จดทะเบียนบริษัทมีขั้นตอนสำคัญอย่างไรบ้าง
-
การจดทะเบียนบริษัทเป็นเป้าหมายสำคัญประการหนึ่งของธุรกิจ นอกจากจะเป็นแสดงตัวตนของธุรกิจอย่างเป็นทางการแล้ว การจดทะเบียนธุรกิจยังเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือในระยะยาวอีกด้วย
-
ก่อนที่จะเริ่มต้นบริษัท ผู้ประกอบการควรมีความเข้าใจอย่างชัดเจนว่าการจดทะเบียนบริษัทนั้นมีอยู่ด้วยกันกี่ประเภท แต่ละประเภทมีความแตกต่างกันอย่างไร และขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัทนั้นมีอะไรบ้าง
จดทะเบียนบริษัทมีกี่ประเภท? อะไรบ้าง
หากต้องการเริ่มต้นจดทะเบียนบริษัท อันดับแรกต้องทำความรู้จักกับประเภทของการจดทะเบียนกันก่อน โดยการจดทะเบียนบริษัทนั้นแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
1. การจดทะเบียนพาณิชย์ (สำหรับบุคคลธรรมดา)
การจดทะเบียนพาณิชย์ประเภทนี้เหมาะกับธุรกิจขนาดเล็กที่มีเจ้าของทำงานเพียงคนเดียว ขายสินค้าหรือบริการง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก เช่น บุคคลธรรมดาที่ค้าขายออนไลน์ ระบบร้านค้าออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ บุคคลธรรมดาที่มีอาชีพค้าขาย และมีหน้าร้านเป็นของตัวเอง เป็นต้น ข้อดีของการจดทะเบียนในลักษณะนี้ คือ ผู้ประกอบการจะไม่มีภาระในการทำบัญชีหรือยื่นส่งงบการเงิน และมีอิสระในการดำเนินธุรกิจอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจอาจขาดความน่าเชื่อถือในระยะยาว เข้าถึงสินเชื่อจากธนาคารได้ยาก รวมไปถึงยังทำให้เจ้าของธุรกิจต้องมีภาระหน้าที่ทางกฎหมายในการรับภาระหนี้สินของธุรกิจแบบไม่จำกัดอีกด้วย
2. การจดทะเบียนบริษัท (สำหรับนิติบุคคล)
เหมาะสำหรับธุรกิจที่มีเจ้าของ ผู้ลงทุนตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป โดยการจดทะเบียนบริษัทจะทำให้มี “บริษัท” มีสถานะเป็น “นิติบุคคล” ที่มีตัวตนตามกฎหมาย แยกจากเจ้าของธุรกิจ เจ้าของบริษัทจึงเป็นอิสระจากหนี้สินของบริษัท (เจ้าของธุรกิจมีภาระการชำระค่าหุ้นให้ครบตามทุนที่จดทะเบียนบริษัทไว้เท่านั้น) อย่างไรก็ตาม บริษัทจะมีภาระหน้าที่แยกจากเจ้าของ โดยบริษัทต้องจัดทำบัญชี เสียภาษี ยื่นประกันสังคมให้พนักงาน เป็นต้น
แม้การมีภาระหน้าที่ดังกล่าว จะทำให้ผู้ประกอบการรู้สึกยุ่งยากอยู่บ้าง แต่จะมีข้อดีคือ อัตราภาษีเงินได้ของนิติบุคคลจะไม่เกิน 20% ของรายได้หักค่าใช้จ่าย (ซึ่งน้อยกว่าอัตราภาษีของบุคคลธรรมดาที่สูงสุดที่ 35%) ซึ่งการจดทะเบียนนิติบุคคลสามารถทำได้ 3 แบบ ดังนี้
ห้างหุ้นส่วนสามัญ
การทำกิจการแบบห้างหุ้นส่วนจำกัดสามัญนั้น ใช้กับผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป โดยหุ้นส่วนทุกคนมีสิทธิ์จัดการกับกิจการ และแบ่งปันกำไรจากกิจการได้ แต่ก็ต้องร่วมกันรับผิดชอบหนี้สินของกิจการอย่างไม่จำกัด ในกรณีที่ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่ได้จดทะเบีย จะมีสภาพเป็นบุคคลธรรมดา แต่หากมีการจดทะเบียน จะมีสภาพเป็นนิติบุคคลที่เรียกว่า “ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล” โดยหุ้นส่วนทุกคนจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบหนี้สินของกิจการแบบ “ไม่จำกัดจำนวน” แต่อาจตกลงให้หุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งเป็นผู้จัดการห้างหุ้นส่วนได้
ห้างหุ้นส่วนจำกัด
ต้องมีผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป และต้องทำการจดทะเบียนนิติบุคคล โดยความรับผิดชอบของ หุ้นส่วน จะแบ่งเป็นแบบ “จำกัด” และแบบ “ไม่จำกัด” ความรับผิดในหนี้สินของกิจการ ซึ่งมีความแตกต่างกันดังนี้
– หุ้นส่วนผู้รับผิดชอบในหนี้สินแบบ “จำกัด” จะรับผิดในหนี้สินกิจการไม่เกินจำนวนเงินลงทุนของตน หุ้นส่วนประเภทนี้จะไม่มีสิทธิ์ตัดสินใจในกิจการ แต่มีสิทธิ์ที่จะสอบถามการดำเนินงานของกิจการได้
– หุ้นส่วนผู้รับผิดชอบในหนี้สินแบบ “ไม่จำกัด” จะรับผิดในหนี้สินทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากกิจการ และจะมีสิทธิ์ตัดสินใจต่างๆ ในกิจการได้อย่างเต็มที่
บริษัทจำกัด
มีผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป และต้องจดทะเบียนนิติบุคคล โดยผู้ถือหุ้นทุกคนจะรับผิดชอบในหนี้สินกิจการแบบ “จำกัด” กล่าวคือ ผู้ถือหุ้นมีภาระเพียงแค่จะต้องชำระเงินทุนตามค่าหุ้นที่ได้จดทะเบียนไว้เท่านั้น หากชำระครบแล้ว ผู้ถือหุ้นไม่ต้องรับผิดชอบในหนี้สินที่เกิดขึ้นในกิจการอีกด้วย ทั้งนี้การจดทะเบียนเป็นบริษัทนั้นส่งผลดีทั้งต่อความน่าเชื่อถือ การสร้างระบบการบริหาร การมีระบบบัญชี และเอื้อต่อการระดมทุน รวมทั้งขอสินเชื่อจากธนาคารมากกว่าการจดทะเบียนแบบอื่น
จดทะเบียนบริษัทมีขั้นตอนอย่างไร
ในการจดทะเบียนบริษัทนั้นมีขั้นตอนในการดำเนินการที่สำคัญดังต่อไปนี้
1. ตรวจและจองชื่อบริษัท
ในการตรวจและจองชื่อบริษัทที่จะทำการจดทะเบียนนั้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เปิดบริการให้สามารถเข้าไปตรวจชื่อและจองชื่อบริษัทผ่านทางเว็บไซต์ได้ โดยเราสามารถจองชื่อได้ถึง 3 ชื่อ แต่มีเงื่อนไขว่าชื่อที่จองนั้นจะต้องไม่ซ้ำหรือใกล้เคียงกับบริษัทที่เคยจดทะเบียนไปแล้ว
2. จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ
หลังจากวันที่นายทะเบียนรับรองชื่อบริษัท บริษัทต้องจัดเตรียมหนังสือบริคณห์สนธิเพื่อไปจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ภายใน 30 วัน โดยหนังสือบริคณห์สนธินั้นจะต้องประกอบด้วยข้อมูลสำคัญต่างๆ ดังต่อไปนี้
- ชื่อบริษัทตามที่ได้จองชื่อไว้
- ที่ตั้งสํานักงานใหญ่/สาขา
- วัตถุประสงค์บริษัท
- ทุนจดทะเบียน
- ชื่อ ที่อยู่ อายุ สัญชาติ ของพยาน 2 คน
- ข้อบังคับ (ถ้ามี)
- จํานวนทุน (ค่าหุ้น) ที่เรียกชําระแล้วอย่างน้อย 25% ของทุนจดทะเบียน
- ชื่อ ที่อยู่ อายุของกรรมการ
- รายชื่อหรือจํานวนกรรมการที่มีอํานาจลงชื่อแทนบริษัท
- ชื่อ เลขทะเบียนผู้สอบบัญชีรับอนุญาตพร้อมค่าตอบแทน
- ชื่อ ที่อยู่ สัญชาติ และจํานวนหุ้นของผู้ถือหุ้นแต่ละคน
3. ยื่นคำขอจดทะเบียนบริษัท
หลังจากจองชื่อและจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิแล้ว นายทะเบียนที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะดำเนินการตรวจสอบเอกสาร หลังจากนั้น ให้เราเตรียมไปจดทะเบียนบริษัทได้ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยเตรียมเอกสาร ดังนี้
- แบบจองชื่อนิติบุคคล
- สําเนาบัตรประจําตัวประชาชนของผู้เริ่มก่อการและกรรมการทุกคน
- สําเนาหลักฐานการรับชําระค่าหุ้นที่บริษัทออกให้แก่ผู้ถือหุ้น
- แผนที่แสดงที่ตั้งของสํานักงานใหญ่โดยสังเขป
หมายเหตุ: ผู้ขอจดทะเบียนจะต้องลงนามรับรองสำเนาถูกต้องในเอกสารทุกฉบับ ยกเว้นสำเนาบัตรประชาชนที่ต้องให้เจ้าของบัตรลงนามรับรองด้วยตัวเอง
จดทะเบียนบริษัทออนไลน์ ทางเลือกใหม่ของธุรกิจในยุคดิจิทัล
หากใครไม่สะดวกเดินทางไปยื่นจดทะเบียน กรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีบริการจดทะเบียนบริษัทออนไลน์ หรือเรียกว่า e-registration โดยเจ้าของกิจการสามารถเข้าไปจดทะเบียนตั้งบริษัทได้ที่เว็บไซต์ของ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งให้บริการในรูปแบบ one-stop service คือ เราสามารถยื่นจดทะเบียนที่ไหนก็ได้ เพียงแค่กรอกข้อมูลเพื่อจองชื่อบริษัทไปจนถึงยื่นจดทะเบียนและชำระค่าธรรมเนียมได้ทั้งหมดทางหน้าจอคอมพิวเตอร์เท่านั้น
จดทะเบียนบริษัทแล้ว กิจการมีภาระหน้าที่ที่อะไรบ้าง
หลังจากจดทะเบียนบริษัทเรียบร้อยแล้ว บริษัทจะมีภาระหน้าที่ตามกฎหมายเกิดขึ้น ดังนี้
ภาระหน้าที่รายเดือน
- จัดทำบัญชี โดยต้องหาผู้ทำบัญชี จัดทำบัญชีพร้อมเตรียมเอกสารประกอบการลงบัญชี ปิดงบการเงิน และจัดให้มีการตรวจสอบงบการเงินโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (ตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543)
- ยื่นส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม หากบริษัทมีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องยื่นแบบ ภ.พ.30 ทุกเดือน แม้ไม่มีรายการการค้า และให้ยื่นภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป (หรือหากยื่นผ่านอินเทอร์เน็ต สามารถยื่นได้ไม่เกินวันที่ 23 ของเดือนถัดไป)
- ยื่นส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย หากบริษัทมีการจ่ายค่าบริการ จะต้องทำการหัก ณ ที่จ่าย และนำส่งสรรพากร ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป
- ยื่นแบบ ภ.ง.ด.1 เงินเดือน ค่าจ้าง สำหรับพนักงานประจำ
- ยื่นแบบ ภ.ง.ด.3 ภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับบุคคลธรรมดาที่ไม่ใช่พนักงานประจำ
- ยื่นแบบ ภ.ง.ด.53 ภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับนิติบุคคลไทย
- ยื่นแบบ ภ.ง.ด.54 ภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับนิติบุคคลต่างประเทศ
- ยื่นประกันสังคม: บริษัทที่ขึ้นทะเบียนนายจ้าง และมีพนักงานประจำ จะต้องนำส่งเงินสมทบประกันสังคม ด้วยแบบ สปส.1-10 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
ภาระหน้าที่รายปี
- ยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคล กลางปี: บริษัทต้องยื่นเสียภาษีเงินได้กลางปี โดยคำนวณจากประมาณการกำไรสุทธิทั้งปี (ยกเว้นบริษัทที่เปิดกิจการปีแรก ไม่ต้องยื่นภาษีกลางปี) โดยยื่นด้วยแบบ ภ.ง.ด.51 ภายใน 2 เดือน นับจากรอบระยะเวลาบัญชี 6 เดือน
- ยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคล สิ้นปี: บริษัทต้องเสียภาษีเงินได้สิ้นปี จากกำไรสุทธิในปีที่ผ่านมา โดยใช้แบบ ภ.ง.ด.50 ภายใน 150 วัน นับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี
- ยื่นส่งงบการเงิน ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
สำหรับผู้ประกอบการท่านใดที่ต้องการจดทะเบียนบริษัทเพื่อเข้าสู่ระบบธุรกิจแบบนิติบุคคลอย่างเต็มตัวก็ควรมีการเตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล เอกสารสำคัญต่างๆ การจัดเตรียม เรื่องบัญชีและภาษี นอกจากจะเป็นสิ่งที่ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ยังเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการเติบโตของธุรกิจในอนาคตอีกด้วย
PEAK โปรแกรมบัญชีออนไลน์ มีบริการรับจดทะเบียนบริษัท จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือจดทะเบียนเลิกกิจการ เพิ่มทุนด้วยทีมงานสำนักงานบัญชีพันธมิตรที่คอยให้คำปรึกษาในทุกแง่มุมในการจดทะเบียนบริษัท เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในการจัดตั้งกิจการ
ทดลองใช้งานโปรแกรมบัญชี PEAK ฟรี! 30 วัน มูลค่า 1,200 บาท
คลิก https://bit.ly/PEAK-Skootar (ไม่มีค่าใช้จ่าย)
PEAK Call Center : 1485
LINE : @peakaccount
สอบถามเพิ่มเติม คลิก https://m.me/peakengine